ยาห้าราก เบญจโลกวิเชียร

แชร์ :

ยาห้าราก เป็นตำรับยาไทยที่มีสรรพคุณในการลดไข้ ประกอบด้วย รากของสมุนไพร จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ รากคนทา รากชิงชี่ รากเท้ายายม่อม รากมะเดื่ออุทุมพร และรากย่านาง นำมาผสมกันในอัตราส่วนที่เท่ากัน ในปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยเพื่อนำสมุนไพรหรือตำรับยาไทยมาใช้ในโรคอุบัติใหม่ เช่น โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยาห้ารากเป็นตำรับยาหนึ่งที่มีการนำมาศึกษาผลต่อเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19

฿150.00

รายละเอียด

ชื่อยา ยาห้าราก เบญจโลกวิเชียร ชนิดแคปซูล ขวดละ 60 แคปซูล (500 มก.)

รายละเอียด

ตำรับยาห้ารากจัดอยู่ในกลุ่มยาแก้ไข้ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้ในบัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิมในบัญชียาหลักแห่งชาติ (1)
          ยาห้าราก ยาเบญจโลกวิเชียร ยาแก้วห้าดวง หรือยาเพชรสว่าง ทั้งหมดนี้เป็นชื่อของตำรับยาเดียวกัน ยาห้ารากเป็นตำรับยาแผนโบราณของไทยที่มีการใช้กันมานานแล้ว โดยมีสรรพคุณในการใช้แก้ไข้ กระทุ้งพิษ หรือถอนพิษต่างๆ ตำรับยาจะประกอบด้วยรากสมุนไพร 5 ชนิด ได้แก่ คนทา (Harrisonia perforata (Blanco) Merr.) ชิงชี่ (Capparis micracantha DC.) เท้ายายม่อม (Clerodendrum indicum (L.) Kuntze) มะเดื่อชุมพร (Ficus racemosa L.) และย่านาง (Tiliacora triandra (Colebr.) Diels) ในอัตราส่วนที่เท่ากัน

          ยาห้าราก เป็นตำรับยาไทยที่มีสรรพคุณในการลดไข้ ประกอบด้วย รากของสมุนไพร จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ รากคนทา รากชิงชี่ รากเท้ายายม่อม รากมะเดื่ออุทุมพร และรากย่านาง นำมาผสมกันในอัตราส่วนที่เท่ากัน ในปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยเพื่อนำสมุนไพรหรือตำรับยาไทยมาใช้ในโรคอุบัติใหม่ เช่น โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยาห้ารากเป็นตำรับยาหนึ่งที่มีการนำมาศึกษาผลต่อเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19

 เลขที่ทะเบียนยา G 15024/63
 สรรพคุณ

บรรเทาอาการไข้

 ส่วนประกอบ
ลำดับ ตัวยา น้ำหนักยา
1 รากมะเดื่อชุมพร 20 กรัม
2 รากคนทา 20 กรัม
3 รากย่านาง 20 กรัม
4 รากชิงชี่ 20 กรัม
5 รากไม้เท้ายายม่อม 20 กรัม
 ขนาดและวิธีใช้

ผู้ใหญ่

  • รับประทานครั้งละ 2-3 แคปซูล
  • วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ

เด็ก อายุ 6 – 12 ปี

  • รับประทานครั้งละ 1-2 แคปซูล
  • วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ
 ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้
  • ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก
  • หากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
  • ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงที่มีไข้ทับระดูหรือไข้ระหว่างมีประจำเดือน

รายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สนับสนุนสรรพคุณของตำรับยาห้าราก มีดังนี้

  1. ฤทธิ์ลดไข้
    สารสกัดเอทานอลจากตำรับยาห้าราก ขนาด 25-400 มก/กก มีฤทธิ์ลดอุณหภูมิกายของหนูแรท ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นไข้ด้วยไลโปโพลีแซคคาไรด์ (lipopolysaccharide; LPS) ขนาด 50 มคก/กก ได้ โดยที่ขนาด 400 มก/กก จะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการลดไข้ และที่ขนาด 100 และ 200 มก/กก จะมีประสิทธิ-ภาพในการลดไข้ได้เทียบเท่ากับยาแอสไพริน ขนาด 300 มก/กก (2) ตำรับยาขนาด 100-400 มก./กก. สามารถลดอุณหภูมิกายของหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นไข้ด้วย Baker’s yeast (ขนาด 0.135 มก./กก.) ได้ โดยที่ขนาด 200 มก/กก จะมีฤทธิ์ดีที่สุด (3)
     
  2. ฤทธิ์ต้านการอักเสบ
    สารสกัด 80% เอทานอลจากตำรับยา ความเข้มข้น 1 และ 10 มคก/มล มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยยับยั้งการแสดงออกของโปรตีน cyclooxygenase-2 (COX-2) ในเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือดจากสายรกเด็กแรกคลอด (human umbilical vein endothelial cell) ทึ่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย interleukin 1β (IL-1β 1 นาโนกรัม/มล) แต่ไม่มีผลต่อการแสดงออกของ COX-2 mRNA นอกจากนี้สารสกัดที่ความเข้มข้น 1, 10 และ 1000 มคก/มล มีฤทธิ์เพิ่มการผลิต prostaglandin E2 (PGE2) จากกรด arachinodic ที่ให้เข้าไปจากภายนอก แต่สารสกัดที่ความเข้มข้น 100 มคก/มล จะเพิ่มการผลิต PGE2 ได้น้อยกว่าที่ความเข้มข้นต่ำแสดงว่าสารสกัดตำรับยามีผลต่อการทำงานของ COX แบบ biphasic dose-dependent (4) สารสกัด 95% เอทานอลจากตำรับยา มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ เมื่อทดสอบในเซลล์ macrophage RAW264.7 ที่ถูกกระตุ้นด้วย LPS โดยค่าความเข้มข้นของสารสกัดที่มีฤทธิ์ยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 40.4 มคก/มล แต่มีฤทธิ์น้อยกว่ายามาตราฐาน Indomethacin (IC50 เท่ากับ 20.32 มคก/มล) (5)
     
  3. ฤทธิ์แก้ปวด
    การทดสอบฤทธิ์แก้ปวดของสารสกัดจากตำรับยาห้าราก ขนาด 25-400 มก/กก ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดอาการปวดด้วยวิธี hot-plate, tail-flick และ acetic acid-induced writhing (เหนี่ยวนำให้เกิดการปวดจนบิดงอลำตัวด้วยกรดอะซิติก 0.6%) พบว่าสารสกัดจากตำรับยาที่ขนาด 400 มก/กก เท่านั้น มีฤทธิ์แก้ปวดได้ เมื่อทดสอบด้วยวิธ๊ hot-plate แต่ในการทดสอบวิธี tail-flick สารสกัดจากตำรับยาทุกขนาด มีฤทธิ์แก้ปวด ยกเว้นที่ขนาด 25 มก/กก สำหรับการทดสอบวิธี acetic acid-induced writhing พบว่าสารสกัดที่ขนาด 200 และ 400 มก/กก มีฤทธิ์แก้ปวดโดยสามารถลดจำนวนครั้งของการบิดงอลำตัวของหนูได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (2)
     
  4. ฤทธิ์ต่อการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด
    การศึกษาผลต่อการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดของตำรับยาห้ารากในอาสามัครสุขภาพดี จำนวน 46 คน อายุ 18-45 ปี โดยให้รับประทานยาห้าราก ขนาด 1,500 มก 3 ครั้ง ทุก 8 ชั่วโมง ทำการเจาะเลือดอาสา- สมัครก่อนได้รับยา และที่เวลา 8, 32 ชม และ 7-10 วัน ภายหลังการให้ยาครั้งแรก วัดผลการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดโดยใช้เครื่อง aggregometer และสารกระตุ้นการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดที่ใช้ คือ epinephrine, adenosine diphosphate (ADP) และคอลลาเจน พบว่าตำรับยาห้ารากไม่มีผลต่อการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดที่ถูกกระตุ้นด้วย epinephrine หรือ ADP ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์หลังรับประทานยา แต่มีผลลดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดที่ถูกกระตุ้นด้วยคอลลาเจนหลังรับประทานยา 32 ชม อาสาสมัครมีอาการไม่พึงประสงค์เล็กน้อย คือ ปวดท้อง และท้องเสีย สรุปว่ายาตำรับห้ารากที่ขนาด 1,500 มก รับประทานทุก 8 ชม. ทั้งหมด 3 ครั้ง มีผลต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดที่ถูกกระตุ้นด้วยคอลลาเจน แม้ว่าจะไม่เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่ควรระมัดระวังความเสี่ยงจากภาวะเลือดออกเมื่อใช้ยานี้อย่างต่อเนื่อง และเป็นระยะเวลานาน (4, 6)
     
  5. ฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย
    การศึกษาเปรียบเทียบฤทธิ์ในการต้านเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ที่ไวต่อยาคลอโรควิน (chloroquine-sensitive, Pf3D7) และสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยา (chloroquine-resistant, PfW2) ของตำรับยาห้ารากที่เตรียมจากรากหรือเตรียมจากลำต้นรวมทั้งส่วนรากและลำต้นของสมุนไพรเดี่ยวที่เป็นส่วนประกอบของตำรับ พบว่าตำรับยาที่เตรียมจากราก และลำต้น และส่วนของรากและลำต้นในสมุนไพรเดี่ยวๆ สามารถต้านเชื้อมาลาเรีย มีความเป็นพิษต่ำ และความจำเพาะต่อฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย โดยมีค่า SI values (selective index = TC50cytotoxicity/IC50 antiplasmodial activity) อยู่ในช่วง 3.55 -19.74 สารสกัดจากตำรับยาห้ารากสามารถต้านเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ Pf3D7 และสายพันธ์ PfW2 โดยมีค่า IC50 < 5 และ 6-10 มคก/มล ตามลำดับ ในขณะที่รากและลำต้นของสมุนไพรเดี่ยวทั้ง 5 ต้น พบว่าย่านางมีประสิทธิภาพสูงสุด IC50 < 5 มคก/มล) และมีความจำเพาะต่อฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย > 10 และสามารถแยกสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ คือ tiliacorinine และ yanangcorinine จากสารสกัดลำต้นย่านาง โดยตรวจพบปริมาณสารทั้งสองชนิดในตำรับยาห้ารากอยู่ถึง 0.57-7.66% นอกจากนี้เมื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างค่า IC50 และปริมาณสารทั้งสองชนิดในตำรับ พบว่าตำรับยาห้ารากมีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อมาลาเรียสูงกว่าสารเดี่ยวๆ แสดงให้เห็นว่าเมื่อนำมาทำเป็นตำรับจะมีการเสริมฤทธิ์กันทำให้มีฤทธิ์ต้านมาลาเรียสูงมากขึ้น และลดความเป็นพิษของสมุนไพรในแต่ละต้นลง สรุปได้ว่าตำรับยาที่เตรียมจากราก หรือลำต้น มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อมาลาเรียได้ใกล้เคียงกัน จึงสามารถใช้ส่วนลำต้นทดแทนรากได้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของพืช (7)
     
  6. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
    สารสกัดเอทานอล (8) และสารสกัด 95% เอทานอลจากตำรับยา (5) มีฤทธิ์ปานกลางในการต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH สารสกัด 80% เอทานอลจากตำรับยา ความเข้มข้น 15-30 มคก/มล มีผลป้องกันการลดลงของปริมาณของ glutathione และการทำงานของเอนไซม์ catalase, glutathione peroxidase และ glutathione S-transferase ในเซลล์ B16F10F10 melanoma ที่ถูกกระตุ้นด้วยรังสียูวีเอได้ (4)
     
  7. ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย
    การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวและหนอง ได้แก่ Propionibacterium acnesStaphylococcus epidermidis และ Staphylococcus aureus ของสารสกัด 95% เอทานอลจากตำรับยาห้ารากและรากสมุนไพรเดี่ยวทั้ง 5 ชนิดในตำรับ (9, 10) เปลือกมังคุด และเปลือกมังคุดผสมตำรับยาห้าราก (9) พบว่าสารสกัดทุกชนิดยกเว้นสารสกัดจากรากชิงชี่ มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ P. acnes และสารสกัดจากตำรับยาห้าราก รากคนทา เปลือกมังคุด และเปลือกมังคุดผสมตำรับยาห้าราก มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ S. aureus และ S. epidermidis ได้ จากผลการวิจัยสามารถสนับสนุนการใช้ตำรับยาห้ารากในการรักษาสิวและนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ปัญหาสิวต่อไป

    การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัด 95% เอทานอลและสารสกัดน้ำจากตำรับยาห้ารากและรากสมุนไพรเดี่ยวทั้ง 5 ชนิดในตำรับ พบว่าสารสกัด 95% เอทานอลจากตำรับ มีฤทธิ์ต้านเชื้อ S. aureus, Streptococcus pyrogenes, Shigella boydii, S. dysenteriae, S. flexneri, Acinetobacter buamannii, Pseudomonas aeruginosa, Klebsiella pneumoniae และ Bacillus subtilis ขณะที่สารสกัดน้ำไม่มีผล ส่วนสารสกัด 95% เอทานอลจากรากย่านาง รากเท้ายายม่อม และสารสกัดน้ำจากรากชิงชี่ จะมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้ครอบคลุมมากที่สุด (11)
     
  8. ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินและเอนไซม์ไทโรซิเนส
    สารสกัด 80% เอทานอลจากตำรับยา ความเข้มข้น 15-30 มคก/มล มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสี เมลานินและยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสในเซลล์ B16F10F10 melanoma ที่ถูกกระตุ้นด้วยรังสียูวีเอ (4)
     
  9. ฤทธิ์ต้านการแพ้
    การศึกษาฤทธิ์ต้านการแพ้ของสารสกัด 95% เอทานอลจากตำรับยาห้ารากและสมุนไพรเดี่ยวที่เป็นส่วนประกอบของตำรับ โดยวิธีการวัดค่าการยับยั้งการหลั่งเอนไซม์ β-hexosaminidase จากเซลล์เม็ดเลือดขาวของหนู (RBL-2H3) พบว่าสารสกัดจากรากคนทามีฤทธิ์ต้านการแพ้ดีที่สุด รองลงมาคือ สารสกัดจากรากมะเดื่ออุทุมพร และตำรับยาห้าราก (ค่า IC50 = 14.5, 27.7 และ 39.8 มคก/มล ตามลำดับ) นอกจากนี้ยังพบว่าสารสำคัญที่แยกได้จากตำรับยา ได้แก่ pectolinarigenin และ O-methylalloptaeroxylin มีฤทธิ์ในการต้านการแพ้ได้ดีกว่าสารสกัดจากตำรับยา (ค่า IC50 = 6.3 และ 14.16 มคก/มล ตามลำดับ) และมีฤทธิ์ดีกว่ายา chlorpheniramine (IC50 =16.2 มคก/มล) (12)
     

หลักฐานความเป็นพิษและการทดสอบความเป็นพิษ

  • การทดสอบความเป็นพิษ

    เมื่อให้สารสกัด 80% เอทานอลจากตำรับยาห้าราก ขนาด 300, 1000, 3000 มก/กก แก่หนูแรท เป็นเวลา 14 วัน ไม่พบความเป็นพิษต่ออวัยวะของหนู (4)

    พิษต่อเซลล์

    สารสกัดเอทานอลจากตำรับยา สารสกัดน้ำและสารสกัดเอทานอลจากรากย่านาง และรากคนทา เป็นพิษต่อเซลล์ไรทะเล เมื่อทดสอบด้วยวิธี Artemia salina lethality assay โดยมีค่าความเข้มข้นที่ทำให้ไรทะเลตายครึ่งหนึ่ง (LC50) เท่ากับ 265, 44 และ 600 มคก/มล ตามลำดับ ส่วนสมุนไพรเดี่ยวอื่นๆ ในตำรับไม่เป็นพิษต่อเซลล์ (8)
  • ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์

    สารสกัดเอทานอลจากตำรับยาห้าราก สารสกัดน้ำและสารสกัดเอทานอลจากสมุนไพรเดี่ยวในตำรับความเข้มข้น 5, 10, 20 และ 40 มก/จานเพาะเชื้อ ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์โดยตรงเมื่อทดสอบในเชื้อ Salmonella typhimurium TA98 และ TA100 แต่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ทางอ้อมหลังจากทำปฏิกิริยากับไนไตรท์ (nitrosation) อย่างไรก็ตามพบว่าสารสกัดจากตำรับยาห้าราก และสารสกัดจากสมุนไพรเดี่ยวแต่ละชนิด มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ของสารก่อกลายพันธุ์จากปฏิกิริยาของไนไตรท์กับวันอะมิโนไพรีน (nitrite treated 1-aminopyrene) ในเชื้อ Salmonella typhimurium ทั้ง 2 สายพันธุ์ได้ (8)
  • ทำให้เกิดการแพ้ การระคายเคืองต่อผิว

    การศึกษาเรื่องความปลอดภัยของสารสกัด 95% เอทานอลจากตำรับยาห้ารากและสมุนไพรเดี่ยวที่เป็นส่วนประกอบของตำรับ ความเข้มข้น 10% และ 20% โดยทดสอบการก่อการแพ้แบบปฎิกิริยาอิมมูนและการก่อการระคายเคืองต่อผิวหนังของอาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 10 คน อายุระหว่าง 21-28 ปี ด้วยวิธีการปิดสารทดสอบบนผิวหนัง (closed patch test under occlusion) บริเวณแผ่นหลังส่วนบนข้างแนวกระดูกสันหลังระหว่างสะบักของอาสาสมัคร ทำการอ่านผลเมื่อครบ 48 และ 96 ชม. พบว่าสารสกัดจากตำรับยาห้ารากไม่ทำให้เกิดระคายเคืองและการแพ้แบบปฎิกิริยาอิมมูนต่อผิวหนังคน จึงน่าจะมีความปลอดภัยสูงในการที่จะนำไปพัฒนาเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ภายนอกกับผิวหนัง ขณะที่รากคนทาและรากชิงชี่มีโอกาสทำให้เกิดการแพ้แบบปฎิกิริยาอิมมูน จึงไม่เหมาะสม สำหรับสมุนไพรเดี่ยวอิ่นๆ ในตำรับ ให้ผลไม่ชัดเจน ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติม (13)

               จากข้อมูลรายงานการศึกษาวิจัยของตำรับยาห้าราก จะเห็นว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ที่ใช้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนสรรพคุณของตำรับยา ช่วยทำให้เกิดความเข้าใจด้านความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และคุณภาพของสมุนไพรแต่ชนิดและตำรับยาห้ารากในการที่จะนำมาใช้รักษาอาการไข้ได้เช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบัน หรือนำไปพัฒนาใช้สำหรับรักษาโรคอื่นๆ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนและเผยแพร่การใช้ตำรับยาที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิมให้เป็นที่ยอมรับของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนต่อไป

    เอกสารอ้างอิง
  1. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 ประกาศ ณ วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555 คัดจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม 130 ตอนพิเศษ 9 ง วันที่ 23 มกราคม 2556.
  2. Jongchanapong A, Singharachai C, Palanuvej C, Ruangrungsi N, Towiwat P. Antipyretic and antinociceptive effects of Ben-cha-lo-ka-wi-chian remedy. J Health Res 2010;24(1): 15-22.
  3. อำภา คนซื่อ ชยันต์ พิเชียรสุนทร จินตนา สัตยาศัย ประภาวดี พัวไพโรจน์ ศุภชัย ติยวรนันท์. การศึกษาฤทธิ์ลดไข้ของยาเบญจโลกวิเชียรในสัตว์ทดลอง. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 2551;6(2):42.
  4. พินภัทร ไตรภัทร ประวิทย์ อัครเสรีนนท์ อุไรวรรณ พานิช วีรดี จันทรนิภาพงศ์. รายงานวิจัยเรื่องการศึกษาฤทธิ์ของสมุนไพรตำรับห้ารากอายุรเวทศิริราชในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และต้านเกล็ดเลือด. กรุงเทพ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย; 2556.
  5. Juckmeta T, Itharat A. Anti- inflammatory and antioxidant activities of Thai traditional remedy called “Ya-ha- rak”. J Health Res 2012;26(4): 205-10.
  6. Chandranipapongse W, Palo T, Chotewuttakorn S, Tripatara P, Booranasubkajorn S, Laohapand T, Akarasereenont P. Study the effect of an antipyretic drug, Thai herbal Ha-rak formula on platelet aggregation in healthy Thai volunteers: a randomized, placebo-controlled trial. SMJ 2017;69(5):283-9.
  7. Nutmakul T, Pattanapanyasat K, Soonthornchareonnon N, Shiomi K, Mori M, Prathanturarug S. Antiplasmodial activities of a Thai traditional antipyretic formulation, Bencha-Loga-Wichian: A comparative study between the roots and their substitutes, the stems. J Ethnopharmacol 2016;193:125-32.
  8. Singharachai C, Palanuvej C, Kiyohara H. Yamada H, Ruangrungsi N. Safety evaluation of Thai traditional medicine remedy: Ben-cha-lo-ka-wi-chian. J Health Res 2011;25(2):83-90.
  9. สุมนา จินดาพงษ์ สุมาลี ปานทอง อินทิช ศักดิ์ภักดิเจริญ อรุณพร อิฐรัตน์. การพัฒนาเจลแต้มสิวจากสารสกัดเปลือกมังคุดและตำรับเบญจโลกวิเชียร. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 2010; 8(2):29.
  10. สุมนา จินดาพงษ์ สุมาลี ปานทอง อรุณพร อิฐรัตน์. การศึกษาฤทธิ์การต้านจุลชีพที่ก่อให้เกิดสิวของสารสกัดสมุนไพรในตำรับเบญจโลกวิเชียร. การประชุมเครือข่ายวิชาการบัณทิตศึกษาแห่งชาติครั้งที่ 1, 18 ธันวาคม 2555; มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จ. ปทุมธานี.
  11. Nuaeissara S, Kondo S, Itharat A. Antimicrobial activity of the extracts from Benchalokawichian remedy and its components. J Med Assoc Thai 2011;94(Suppl.7): S172-S177.
  12. Juckmeta T, Thongdeeying P, Itharat A. Inhibitory effect on ?-hexosaminidase release from RBL-2H3 cells of extracts and some pure constituents of benchalokawichian, a Thai herbal remedy, used for allergic disorders. Evid Based Complement Alternat Med 2014; 1-8.
  13. วรัมพา สุวรรณรัตน์ มะลิ อาจริยะกุล อรุณพร อิฐรัตน์ สมบูรณ์ เกียรตินันทน์. การศึกษาทางคลินิกระยะที่ ๑ เรื่องความปลอดภัยของสารสกัดตำรับยาเบญจโลกวิเชียร (ห้าราก) และสารสกัดสมุนไพรเดี่ยวที่เป็นส่วนประกอบของตำรับ. ธรรมศาสตร์เวชสาร 2555;12(4):767-76.
 
 
 

ติดต่อสั่งซื้อ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 02-149-5632 LINE:@utts

เพิ่มเพื่อน