ที่มาของตำรับยา
ตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, จารึกตำรายา วัดราชโอรสาราวรวิหาร.
“๏ สิทธิการิยะ จะกล่าวลักษณะกระษัยโรคอันบังเกิดขึ้นเป็นอุปปาติก คือกระษัยเหล็กนั้นเป็นคำรบ 3 มีประเภทกระทำให้หน้าเหน่าและท้องน้อยนั้นแข็งดุจดังแผ่นศิลา และจะไหวตัวไปมาก็มิได้ ครั้นแก่เข้าแข็งลามขึ้นไปถึงยอดอก และให้บริโภคอาหารมิได้ ให้ปวดขบดังจะขาดใจตายดังนี้ฯ
อนึ่ง เอาใบกะเพรา ใบแมงลัก ใบเสี้ยนผี กระชาย กัญชา พริกไทย หอมแดง หญ้าไซ เกลือ ลูกคัดเค้า ยาทั้งนี้เอาน้ำสิ่งละทะนาน 1 น้ำมันงาทะนาน 1 หุงให้คงแต่น้ำมันแล้ว จึงเอา ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน กานพลู เทียนดำ เทียนขาว การบูร สิ่งละ 1 สลึง ทำเป็นจุณปรุงลงในน้ำมันนั้น แล้วจึงเอามาทาท้องรีดเสียให้ได้ 3 วันก่อน แล้วจึงกินน้ำมันนี้อีก 3 วันหายวิเศษนัก ยาน้ำมันขนานนี้ชื่อ สนั่นไตรภพ แก้กล่อนกระษัยทั้งปวงหายดีนักฯ”
สูตรตำรับยา
ประกอบด้วย ตัวยา 18 ชนิด ดังนี้
ลำดับ |
ตัวยา |
น้ำหนักยา |
1 |
ใบกะเพรา |
1 กิโลกรัม (น้ำหนักตัวยาสด) |
2 |
ใบแมงลัก |
1 กิโลกรัม (น้ำหนักตัวยาสด) |
3 |
ใบผักเสี้ยนผี |
1 กิโลกรัม (น้ำหนักตัวยาสด) |
4 |
กระชาย |
1 กิโลกรัม (น้ำหนักตัวยาสด) |
5 |
กัญชา |
1 กิโลกรัม (น้ำหนักตัวยาสด) |
6 |
พริกไทย |
1 กิโลกรัม (น้ำหนักตัวยาสด) |
7 |
หอมแดง |
1 กิโลกรัม (น้ำหนักตัวยาสด) |
8 |
หญ้าไซ |
1 กิโลกรัม (น้ำหนักตัวยาสด) |
9 |
เกลือ |
1 กิโลกรัม |
10 |
ลูกคัดเค้า |
1 กิโลกรัม (น้ำหนักตัวยาสด) |
11 |
ลูกจันทน์ |
1 สลึง |
12 |
ดอกจันทน์ |
1 สลึง |
13 |
กระวาน |
1 สลึง |
14 |
กานพลู |
1 สลึง |
15 |
เทียนดำ |
1 สลึง |
16 |
เทียนขาว |
1 สลึง |
17 |
การบูร |
1 สลึง |
11 |
น้ำมันงา |
1 ทะนาน |
ข้อบ่งใช้
แก้กษัยเหล็กเกิดจากลมอัดแน่นแข็งเป็นดานอยู่ในท้องน้อย ทำให้มีอาการเจ็บปวดท้องแข็งลามขึ้นไปถึงยอดอก กินอาหารไม่ได้
ขนาดและวิธีใช้
- ใช้น้ำมันทารีดท้อง นวดคลึงบริเวณรอบสะดือถึงชายโครง ทิศตามเข็มนาฬิกา 3 วันก่อน แล้วจึงรับประทานยาน้ำมัน
- รับประทานครั้งละ 3 - 5 มิลลิลิตร วันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า เป็นเวลา 3 วัน
ข้อห้ามใช้
ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
ข้อควรระวัง
- ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)
- ควรระวังการใช้ร่วมกับยา phenytoin, propranolol, theophylline และ rifampicin เนื่องจากตำรับนี้มีพริกไทยเป็นส่วนประกอบ
- ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคแผลเปื่อยเพปติก และโรคกรดไหลย้อน เนื่องจากเป็นตำรับยารสร้อน
- ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้
- ควรระวังในการทาบริเวณผิวที่บอบบางหรือผิวหนังที่แตก เนื่องจากอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้
ข้อมูลเพิ่มเติม
กษัยเหล็ก เป็นกษัยอันเกิดจากอุปปาติกะโรคชนิดหนึ่ง เกิดจากลมอัดแน่นแข็งเป็นดานอยู่ในท้องน้อย ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดท้องแข็งลามขึ้นไปถึงยอดอก กินอาหารไม่ได้ เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
- โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ. ตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พระนคร, พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ จารึกไว้เมื่อ พ.ศ. 2375 ฉบับสมบูรณ์, 2505. หน้า 348.
- จารึกตำรายาวัดราชโอรสารามวรวิหาร. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2545. หน้า 128.