ที่มาของตำรับยา
คัมภีร์ธาตุพระนารายน์
“อัคคินีวคณะ ให้เอา กัญชา ยิงสม สิ่งละส่วน เปลือกอบเชย ใบกระวาน กานพลู สะค้าน สิ่งละ 2 ส่วน ขิงแห้ง 3 ส่วน รากเจตมูลเพลิง ดีปลี สิ่งละ 4 ส่วน น้ำตาลกรวด 6 ส่วน กระทำเป็นจุณ น้ำผึ้งรวงเป็นกระสาย บดเสวยหนักสลึง 1 แก้อาเจียน 4 ประการ ด้วยติกกะขาคินีกำเริบ และวิสมามันทาคินีอันทุพล จึงคลื่นเหียนอาเจียน มิให้เสวยพระกระยาหารได้ ให้จำเริญพระธาตุทั้ง 4 ให้เสวยพระกระยาหาร เสวยมีรสชูกำลังยิ่งนัก
ข้าพระพุทธเจ้า ขุนประสิทธิโอสถจีน ประกอบทูลเกล้าฯถวาย ครั้งสมเด็จพระนารายณ์เปนเจ้าเมืองลพบุรี เสวยเพลาเช้าอัตรา ดีนักแลฯ”
สูตรตำรับยา
ประกอบด้วย ตัวยา 10 ชนิด รวมน้ำหนัก 27 ส่วน ดังนี้
ลำดับ |
ตัวยา |
น้ำหนักยา |
1 |
กัญชา |
1 ส่วน |
2 |
ยิงสม (โสม) |
1 ส่วน |
3 |
เปลือกอบเชย |
2 ส่วน |
4 |
ใบกระวาน |
2 ส่วน |
5 |
กานพลู |
2 ส่วน |
6 |
สะค้าน |
2 ส่วน |
7 |
ขิงแห้ง |
3 ส่วน |
8 |
เจตมูลเพลิง |
4 ส่วน |
9 |
ดีปลี |
4 ส่วน |
10 |
น้ำตาลกรวด |
6 ส่วน |
ข้อบ่งใช้
แก้คลื่นเหียนอาเจียน ที่เกิดจากการย่อยอาหารผิดปกติ
ขนาดและวิธีใช้
รับประทานครั้งละ 3.75 กรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า
น้ำกระสายยาที่ใช้
- น้ำผึ้งรวง
- ถ้าหาน้ำกระสายยาไม่ได้ ให้ใช้น้ำสุกแทน
ข้อห้ามใช้
ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
ข้อควรระวัง
- ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)
- ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคแผลเปื่อยเพปติก และโรคกรดไหลย้อน เนื่องจากเป็นตำรับยารสร้อน
ข้อมูลเพิ่มเติม
- ติกกะขาคินี หมายถึง ไฟย่อยอาหารกำเริบ ซึ่งมักสัมพันธ์หรือเกิดจากปิตตะกำเริบ
- วิสมามันทาคินี อันทุพล หมายถึง ไฟย่อยอาหารที่มีลักษณะที่ไม่สม่ำเสมอหรือไม่คงที่ เช่น บางมื้อกินอาหารได้มากเนื่องจากไฟย่อยอาหารมีกำลังแรง แต่พอถึงมื้อต่อไปมีอาการเบื่ออาหาร ไม่อยากรับประทานอาหาร เนื่องจากไฟย่อยอาหาร (อัคนิ) อ่อนกำลังลง ลักษณะอาการขึ้นๆ ลงๆ ไม่แน่นอน ไม่สม่ำเสมอของไฟย่อยอาหารเป็นผลจากความผิดปกติของ “วาตะ” อาจกล่าวอีกอย่างว่า “วาตะทำให้ไฟย่อยอาหารมีลักษณะที่ไม่แน่นอน”
- ยามีรสร้อน ผู้ป่วยที่มีภาวะโรคกระเพาะอาหาร ควรรับประทานหลังอาหารและแบ่งรับประทานก่อนอาหารเช้าและเย็น
- ชื่ออื่นในตำรายาเกร็ด เช่น อัคคีวัชณะ, ยาชื่ออัคคีวัฒนะ, ยาชื่ออัคนี
เอกสารอ้างอิง
- คัมภีร์ธาตุพระนารายน์ (ฉบับใบลาน). กรมหลวงวงสาฯ กรมหมื่นไชยนาท ประทาน พ.ศ. 2459.
- ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต, วิเชียร จีรวงส์. คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์ ฉบับเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชา 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2542. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อมรินทร์และมูลนิธิภูมิปัญญา. 2548. หน้า 29.