ที่มาของตำรับยา
ตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
“๏ สิทธิการิยะ จะกล่าวด้วยตำรายาคือวิเศษสรรพคุณสำเร็จ อันอาจารย์เจ้าในก่อนประมวลไว้ ให้แก้สรรพโรคทั้งปวงต่างๆ สืบกันมาฯ
ในที่นี้จะว่าแต่สรรพคุณวิเศษ คือคณะสรรพยาที่จะแก้ซึ่งโรคสรรพลมทั้งปวงอันกำเริบพัดขึ้นเบื้องบนนั้นโดยนัยดังนี้ฯ
ยาแก้ลมขึ้นสูง เอายาดำ, กัญชา, อุตพิด, ดองดึง สิ่งละ 4 ส่วน กระเทียม 6 ส่วน, ว่านน้ำ, ชะเอมเทศ, โกฐน้ำเต้า, โกฐพุงปลา, มหาหิงคุ์ สิ่งละ 8 ส่วน ว่านเปราะ, ผลผักชี สิ่งละ 12 ส่วน ขิงแห้ง, แก่นแสมทะเล, รากส้มกุ้ง, สะค้าน สิ่งละ 16 ส่วน พริกไทย, เปลือกกันเกรา สิ่งละ 24 ส่วน ทำเป็นจุณบดละลายน้ำผึ้งรวง ให้กินหนัก 1 สลึง แก้ลมขึ้นสูงหายดีนักฯ”
สูตรตำรับยา
ประกอบด้วย ตัวยา 18 ชนิด รวมน้ำหนัก 198 ส่วน ดังนี้
ลำดับ |
ตัวยา |
น้ำหนักยา |
1 |
ยาดำ |
4 ส่วน |
2 |
กัญชา |
4 ส่วน |
3 |
อุตพิด |
4 ส่วน |
4 |
ดองดึง |
4 ส่วน |
5 |
กระเทียม |
6 ส่วน |
6 |
ว่านน้ำ |
8 ส่วน |
7 |
ชะเอมเทศ |
8 ส่วน |
8 |
โกฐน้ำเต้า |
8 ส่วน |
9 |
โกฐพุงปลา |
8 ส่วน |
10 |
มหาหิงคุ์ |
8 ส่วน |
11 |
ว่านเปราะ |
12 ส่วน |
12 |
ผลผักชี |
12 ส่วน |
13 |
ขิงแห้ง |
16 ส่วน |
14 |
แก่นแสมทะเล |
16 ส่วน |
15 |
รากส้มกุ้ง |
16 ส่วน |
16 |
สะค้าน |
16 ส่วน |
17 |
พริกไทย |
24 ส่วน |
18 |
เปลือกกันเกรา |
24 ส่วน |
ข้อบ่งใช้
แก้ลมขึ้นเบื้องสูง ที่ทำให้มีอาการปวดศีรษะ หน้ามืด มึนงง หูอื้อ ใจสั่น อ่อนเพลีย สวิงสวาย
ขนาดและวิธีใช้
รับประทานครั้งละ 2 กรัม วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ก่อนอาหาร
น้ำกระสายยาที่ใช้
- น้ำผึ้งรวง
- ถ้าหาน้ำกระสายยาไม่ได้ ให้ใช้น้ำสุกแทน
ข้อห้ามใช้
ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
ข้อควรระวัง
- ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)
- ควรระวังการใช้ร่วมกับยา phenytoin, propranolol, theophylline และ rifampicin เนื่องจากตำรับนี้มีพริกไทยเป็นส่วนประกอบ
- ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคแผลเปื่อยเพปติก และโรคกรดไหลย้อน เนื่องจากเป็นตำรับยารสร้อน
ข้อมูลเพิ่มเติม
- ลมขึ้นเบื้องสูง เป็นโรคลมที่ทำให้มีอาการปวดศีรษะ ตาแดง หูตาฝ้าฟาง หูอื้อ อ่อนเพลีย สวิงสวาย เป็นต้น
- ดองดึงจะต้องฆ่าฤทธิ์ตามกรรมวิธีก่อนนำไปปรุงยา
เอกสารอ้างอิง
- โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ. ตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พระนคร, พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จารึกไว้เมื่อ พ.ศ. 2375 ฉบับสมบูรณ์, 2505. หน้า 429.
- กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข. พจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2559. พิมพ์ครั้งที่ 4. โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. กรุงเทพฯ. 2559. หน้า 466.