ที่มาของตำรับยา
อายุรเวทศึกษา (ขุนนิทเทสสุขกิจ) เล่ม 2
“1483. ยาแก้โรคจิต ขนานที่ 1 เอาเปลือกกุ่มน้ำ 2 บาท เปลือกมะรุม 6 บาท แห้วหมู เปล้าน้อย เปล้าใหญ่ รางแดง จันทน์เทศ เปลือกมะตูม ก้านกัญชา บอระเพ็ด เปลือกโมกมัน หญ้าชันกาด สนเทศ สิ่งละ 1 บาท ระย่อมเท่ายาทั้งหลาย รวมตำผงละลายน้ำร้อนแทรกพิมเสน กินครั้งแรกหนัก 2 ไพ ถ้านอนไม่หลับให้ทวียาขึ้นไปถึง 1 สลึง”
สูตรตำรับยา
ประกอบด้วย ตัวยา 14 ชนิด รวมน้ำหนัก 570 กรัม ดังนี้
ลำดับ |
ตัวยา |
น้ำหนักยา |
1 |
เปลือกกุ่มน้ำ |
30 กรัม |
2 |
เปลือกมะรุม |
90 กรัม |
3 |
แห้วหมู |
15 กรัม |
4 |
เปล้าน้อย |
15 กรัม |
5 |
เปล้าใหญ่ |
15 กรัม |
6 |
รางแดง |
15 กรัม |
7 |
จันทน์เทศ |
15 กรัม |
8 |
เปลือกมะตูม |
15 กรัม |
9 |
ก้านกัญชา |
15 กรัม |
10 |
บอระเพ็ด |
15 กรัม |
11 |
เปลือกโมกมัน |
15 กรัม |
12 |
หญ้าชันกาด |
15 กรัม |
13 |
สนเทศ |
15 กรัม |
14 |
ระย่อม |
285 กรัม |
ข้อบ่งใช้
แก้โรคลมที่ทำให้กังวล เครียด นอนไม่หลับ
ขนาดและวิธีใช้
- รับประทานครั้งแรก ครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ก่อนอาหาร
- ถ้านอนไม่หลับ รับประทานครั้งละ 1 กรัม วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ก่อนอาหาร
น้ำกระสายยาที่ใช้
- น้ำร้อนแทรกพิมเสน
- ถ้าหาน้ำกระสายยาไม่ได้ ให้ใช้น้ำสุกแทน
ข้อห้ามใช้
- ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
- ห้ามใช้ในผู้ที่ใช้ยาลดความดันโลหิต
ข้อควรระวัง
ควรระวังการใช้ยาตำรับที่มีระย่อมเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากสารสำคัญซึ่งมีฤทธิ์ในการลดความดัน คือ สาร reserpine และอัลคาลอยด์อื่นๆ หากได้รับในขนาดที่สูงเกินไป มีผลกดการทำงานของประสาท ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ปากแห้ง คัดจมูก ท้องร่วง มึนงง หน้ามืด ใจสั่น ซึม มือแขนสั่น
ข้อมูลเพิ่มเติม
- ยาแก้โรคจิตตำรับนี้ เป็นตำรับยาตามหนังสืออายุรเวทศึกษา (ขุนนิทเทสสุขกิจ) เล่ม ๒ ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงโรคจิตในความหมายของการแพทย์แผนปัจจุบัน (โรคทางจิตเวชและไบโพล่า)
- ระย่อมจะต้องฆ่าฤทธิ์ตามกรรมวิธีก่อนนำไปปรุงยา
เอกสารอ้างอิง
นิทเทส (ถมรัตน์) พุ่มชูศรี. อายุรเวทศึกษา (ขุนนิทเทสสุขกิจ) เล่ม 2. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พร้อมจักรการพิมพ์; 2516. หน้า 158.