ที่มาของตำรับยา
คัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ เล่ม 2
“ยาชื่อทัพยาธิคุณ เอาสะค้าน ผักแพวแดง ดองดึง หว้านน้ำ ยาดำ มหาหิงคุ์ โกฐสอ โกฐจุลาลำพา โกฐพุงปลา กัญชา หัวอุตพิด เนื้อฝักราชพฤกษ์ ชะเอมเทศ ดีปลี แก่นแสมทะเล เอาสิ่งละ 1 ส่วน พริกไทยล่อนเท่ายาทั้งหลาย ตำเป็นผง เอาน้ำใบกำเม็ง น้ำลูกประคำดีควาย เคล้ายาผงตากแดดให้แห้งสิ่งละ 7 ครั้ง แล้วบดด้วยน้ำผึ้งกินหนัก 1 สลึง แก้กล่อน 5 ประการ ซึ่งให้จุกเสียดแลเป็นพรรดึก แก้ลมเป็นก้อนในอุทร ให้เจ็บทั่วร่างกาย เจ็บสะเอว มือเท้าตายกระด้างแลเมื่อยขบทุกข้อทุกลำ ขัดแข้งขา เจ็บทวารหนัก เบาพิการต่างๆ เจ็บศีรษะเวียนหน้าตา เจ็บไหล่ทั้งสอง ปากเปรี้ยว เสียงแหบแห้ง ขัดสีข้าง ขัดอก ท้องขึ้น กินอาหารไม่มีรส นอนไม่ใคร่หลับ โรคทั้งนี้เป็นเพราะเสมหะแห้ง บุรุษและสตรีเป็นเหมือนกัน”
สูตรตำรับยา
ประกอบด้วย ตัวยา 16 ชนิด รวมน้ำหนัก 30 ส่วน ดังนี้
ลำดับ |
ตัวยา |
น้ำหนักยา |
1 |
สะค้าน |
1 ส่วน |
2 |
ผักแพวแดง |
1 ส่วน |
3 |
ดองดึง |
1 ส่วน |
4 |
ว่านน้ำ |
1 ส่วน |
5 |
ยาดำ |
1 ส่วน |
6 |
มหาหิงคุ์ |
1 ส่วน |
7 |
โกฐสอ |
1 ส่วน |
8 |
โกฐจุฬาลัมพา |
1 ส่วน |
9 |
โกฐพุงปลา |
1 ส่วน |
10 |
กัญชา |
1 ส่วน |
11 |
อุตพิด |
1 ส่วน |
12 |
เนื้อในฝักราชพฤกษ์ |
1 ส่วน |
13 |
ชะเอมเทศ |
1 ส่วน |
14 |
ดีปลี |
1 ส่วน |
15 |
แก่นแสมทะเล |
7 ส่วน |
16 |
พริกไทยล่อน |
15 ส่วน |
|
ส่วนประกอบอื่นในตำรับ |
|
|
ใบกะเม็ง |
|
|
ลูกประคำดีควาย |
|
ข้อบ่งใช้
แก้อาการจุกเสียด ท้องผูกอุจจาระเป็นก้อนแข็งเจ็บ เมื่อยขบตามร่างกาย กินอาหารไม่รู้รส นอนไม่หลับ
ขนาดและวิธีใช้
รับประทานครั้งละ 2 กรัม วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ก่อนอาหาร
น้ำกระสายยาที่ใช้
- น้ำผึ้งรวง
- ถ้าหาน้ำกระสายยาไม่ได้ ให้ใช้น้ำสุกแทน
ข้อห้ามใช้
ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
ข้อควรระวัง
- ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)
- ควรระวังการใช้ร่วมกับยา phenytoin, propranolol, theophylline และ rifampicin เนื่องจากตำรับนี้มีพริกไทยในปริมาณสูง
- ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคแผลเปื่อยเพปติก และโรคกรดไหลย้อน เนื่องจากเป็นตำรับยารสร้อน
- ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยสูงอายุ
ข้อมูลเพิ่มเติม
- กล่อน 5 ประการ ได้แก่ กล่อนดิน กล่อนน้ำ กล่อนลม และกษัยกล่อน
- ดองดึงจะต้องฆ่าฤทธิ์ตามกรรมวิธีก่อนนำมาปรุงยา
เอกสารอ้างอิง
ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร). คัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ เล่ม 2. กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อุตสาหกรรมการพิมพ์; 2504. หน้า 293.